นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคนิ้วล็อกเป็นความผิดปกติของนิ้วมือ ที่มีการสะดุดหรือล็อก ไม่สามารถกำหรือเหยียดนิ้วมือได้ปกติ พบในเพศหญิงร้อยละ 80 และเพศชายร้อยละ 20 โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป อาจเป็นเพราะใช้มือทำงานซ้ำๆ มากกว่าผู้ชาย เช่น หิ้วถุงหนักๆ บิดผ้า ซักผ้า กวาดบ้าน ถูบ้าน สับหมู สับไก่ และมีพฤติกรรมเหล่านี้เป็นเวลานานๆ รวมถึงผู้เป็นโรคเบาหวาน หรือผู้ที่เป็นโรครูมาตอยด์มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคนี้มากขึ้น
โรคนิ้วล็อก ( Trigger finger )
วิธีการรักษา
การรักษาโรคนิ้วล็อกมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค
การรักษาในระยะแรกคือ
- การพักการใช้งานของมือ ไม่ใช้งานรุนแรง
- การรับประทานยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น Diclofenac, Ibuprofen, Celecoxib เป็นต้น
- การทำกายภาพบำบัด เช่น การแช่พาราฟิน
- การทำอัลตราซาวนด์ก็อาจช่วยลดการอักเสบและการติดยึดของเส้นเอ็นกับปลอกเอ็น
แต่ในกรณีที่เป็นรุนแรงขึ้นอาจจะให้การรักษาด้วยการใช้ยาต้านการอักเสบ ร่วมกับการฉีดสเตียรอยด์เข้าไปบริเวณปลอกเอ็น ซึ่งสเตียรอยด์มีคุณสมบัติในการลดการอักเสบ ลดการบวมของเส้นเอ็น และปลอกเอ็นทำให้อาการดีขึ้นได้ แต่ การฉีดยาอาจทำให้อาการดีขึ้นได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน สามารถกลับมาเป็นซ้ำอีกได้ในระยะเวลาไม่นานประมาณร้อยละ 50 ของผู้ป่วยจะหายจากอาการนิ้วล็อก ส่วนอีกร้อยละ 25 จะหายหลังจากการฉีดยาเข็มที่สอง ไม่ควรฉีดยาเกิน 2 ครั้ง เพราะอาจทำให้เกิด tendon rupture ได้ ในกรณีที่มีการล็อกติดรุนแรงหรือพังผืดหนามาก ฉีดยาก็ไม่ได้ผล การผ่าตัดจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะจะเปิดลงไปตัดเข็มขัดรัดเส้นเอ็นและ ปลอกเอ็นที่ติดยึดขวางทางผ่านของเอ็นให้ผ่านไปได้
หลักในการพิจารณาให้การผ่าตัด
- ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยการฉีดสเตียรอยด์เฉพาะที่
- มีอาการกำมือไม่สนิทหรือตรวจพบอาการตึงและฝืดจากการทำ passive movement ของนิ้วนั้น โดยไม่มีการยึดติดของข้อนิ้วมือเป็นต้นเหตุ
- ผู้ป่วยอยู่ใน grade 3 และ 4 นิ้ว ล็อกรุนแรง
การรักษาโรคนิ้วล็อกด้วยวิธีการเจาะผ่านผิวหนัง เป็นวิธีที่สะดวก ง่าย และประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถทำในแผนกผู้ป่วยนอกได้ทันที ในกรณีที่คนไข้เป็นหลายนิ้วในมือเดียวกัน ก็สามารถทำพร้อมกันได้ทีเดียว ส่วนถ้าเป็นอีกมือหนึ่งแนะนำให้ทำภายหลังจากที่มืออีกข้างหายดีแล้ว การผ่าตัดด้วยวิธีนี้สร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้ป่วยเป็นอย่างมาก เนื่อง จากเจ็บตัวน้อยมาก (ขณะฉีดยาชา) ไม่มีแผลเป็น หายเร็ว ไม่ต้องเปิดแผล ไม่ต้องทำแผล ไม่มีเลือดออก เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่กลัวการผ่าตัด อีกทั้งยังไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเส้นประสาท
ข้อดีของการผ่าตัด
การผ่าตัดโดยทั่วไปที่ใช้กันคือ การผ่าตัดเปิดแผล โดยเริ่มจากการกรีดที่ฐานนิ้วประมาณ 2 เซนติเมตร แยกชั้นผิวหนังกับไขมันออกก็จะเห็นปลอกเอ็นรัดเส้นเอ็นอยู่ จากนั้นก็ตัดปลอกเอ็นตามแนวยาว ซึ่งโดยทั่วไปจะตัดปลอกเอ็นที่ตำแหน่ง A1 pulley จากนั้นก็เย็บผิวหนังกลับเข้าไปอย่างเดิม ข้อดีก็คือ มองเห็นบริเวณที่จะผ่าตัด และสามารถเล็มตัดพังผืดออกทิ้ง
ข้อเสีย
ใช้เวลานาน มีค่าใช้จ่ายสูงกว่า ดูแลรักษาแผลยาก มีรอยแผลเป็น และอาจมีผลกระทบต่อเส้นประสาทผิวหนังของนิ้วได้มากกว่าการรักษาด้วยการเจาะ ผ่านผิวหนัง
ขอบคุณข้อมูลจาก นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ ท่านสามารถติดตามเพิ่มได้ที่ FB:Ramachannel สถานีสุขภาพดี 24ชม. True Visions 24,29 หรือติดตามสดผ่านทาง www.ramachannel.tv