22.2 C
Thailand
วันศุกร์ 22 พฤศจิกายน 2024

ประกันสังคม สิทธิประโยชน์ที่ควรรู้ จะได้ใช้สิทธิประโยชน์กันได้ถูกต้อง

Recommend

One
Onehttp://www.bkkparttime.com/
เว็บรวมงานพาร์ทไทม์ ฟลูไทม์ จากบริษัทชั้นนำทั่วประเทศ

ประกันสังคม สิทธิประโยชน์ที่คนทำงานควรรู้ บรรดาคนทำงานกินเงินเดือน กว่า 9 ล้านคนทั่วประเทศ ล้วนต้องจ่ายเงินสมทบให้กับสำนักงานประกันสังคม 5% ของเงินเดือน เพื่อแลกกับการได้รับสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งมีอยู่หลายประการ ทั้งสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม และสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน แล้วมีสิทธิประโยชน์ใดที่คนทำงานควรทราบไว้บ้าง เผื่อเหตุฉุกเฉิน จะได้ใช้สิทธิประโยชน์กันได้ถูกต้อง

ประกันสังคม สิทธิประโยชน์ที่ควรรู้

สิทธิประกันสังคมกองทุนประกันสังคม
1.กรณีเจ็บป่วยทั่วไป ประสบอันตราย
ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลที่เลือก โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ และได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ระหว่างที่หยุดพักรักษาตัวตามคำสั่งแพทย์ในจำนวนครึ่งหนึ่งของค่าจ้างตามจำนวนวันที่หยุดจริง ไม่เกินครั้งละ 90 วัน และไม่เกิน 180 วันในหนึ่งปี หากเจ็บป่วยเรื้อรังจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ไม่เกิน 365 วัน
2.กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน
หากผู้ประกันตนมีอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินที่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่เกิดเหตุที่สุด ซึ่งไม่ใช่โรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ ผู้ประกันตน หรือญาติจะต้องแจ้งให้โรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ทราบด้วย เพื่อจะได้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น โดยผู้ประกันตนต้องทดรองจ่ายเงินไปก่อน แล้วจึงมาเบิกคืนกับทางประกันสังคม ซึ่งจะชำระค่าใช้จ่ายให้ ตามกรณีต่อไปนี้
ผู้ป่วยนอก สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น
ผู้ป่วยใน สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น ภายในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ยกเว้น ค่าห้องและอาหารเบิกได้ไม่เกินวันละ 700 บาท

ทั้งนี้ กรณีอุบัติเหตุฉุกเฉินผู้ประกันตนสามารถขอรับค่าบริการทางการแพทย์ได้โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง หากเป็นกรณีประสบอันตรายผู้ประกันตนสามารถขอรับค่าบริการทางการแพทย์คืนได้ ประเภทผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน ประเภทละไม่เกิน 2 ครั้งต่อปี

3.กรณีประสบอันตราย หรือบาดเจ็บฉุกเฉิน
หากผู้ประกันตนได้รับอุบัติเหตุ ได้รับบาดเจ็บฉุกเฉิน ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่ไม่ได้ระบุไว้ตามบัตรรับรอง สิทธิได้ โดยแจ้งให้โรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิทราบด้วยโดยเร็ว ซึ่งประกันสังคมจะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เฉพาะค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตาม จริง ไม่เกิน 72 ชั่วโมง นับตั้งแต่ผู้ประกันเข้ารับการรักษา โดยไม่รวมระยะเวลาในวันหยุดราชการ) จากนั้น โรงพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกไว้จะรับผิดชอบการรักษาต่อจากโรงพยาบาลแรกที่ ผู้ประกันเข้ารับการรักษาจากเหตุฉุกเฉิน

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นก่อนการแจ้งผู้ประกันตนต้องสำรองจ่ายก่อน และทางประกันสังคมจะจ่ายให้สำหรับโรงพยาบาลรัฐ สำหรับค่าห้อง ค่าอาหารเท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินวันละ 700 บาท

4.กรณีประสงค์จะทำหมัน
ผู้ประกันตนสามารถเข้าทำหมันได้ในโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาลที่ผู้ประกันตนเลือกไว้ในสถานพยาบาลนั้น ๆ โดยทางประกันสังคมจะจ่ายให้ผู้ประกันตนชาย ไม่เกิน 500 บาทต่อราย ส่วนผู้ประกันตนหญิง จะจ่ายจริงไม่เกิน 1,000 บาทต่อราย
5.กรณีทันตกรรม
หากผู้ประกันตนเข้ารับการถอนฟัน ขูดหินปูน อุดฟัน ไม่ว่าจะที่สถานพยาบาลแห่งใดก็สามารถเบิกเงินคืนได้ในอัตราไม่เกิน 300 บาทต่อครั้ง และปีละไม่เกิน 600 บาทต่อครั้ง
6.กรณีคลอดบุตร
ผู้ที่สามารถเบิกค่าคลอดบุตรในแต่ละครั้งได้ ต้องเป็นผู้ที่จ่ายเงินสมทบครบ 7 เดือน ภายใน 15 เดือนก่อนเดือนคลอดบุตร (นับถอยหลังจากเดือนที่คลอดไป 1 ปี 3 เดือน โดยไม่รวมเดือนที่คลอด)
7.กรณีทุพพลภาพ
ผู้ประกันตนที่ประสบอุบัติเหตุทุพพลภาพ เช่น ป่วยเป็นโรคเบาหวาน และมีภาวะแทรกซ้อนทำให้ตาบอดทั้ง 2 ข้าง หรือประสบอันตรายจนถึงขั้นทุพพลภาพและไม่สามารถทำงานได้ สามารถขอรับเงินชดเชยได้ แต่ต้องเป็นผู้ที่จ่ายเงินสมทบมาครบ 3 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือน ก่อนเดือนที่สำนักงานประกันสังคมกำหนดให้เป็นผู้ทุพพลภาพ ทั้งนี้ สิทธิที่ผู้ทุพพลภาพจะได้รับ ประกอบด้วย

ค่ารักษาพยาบาล
• หากเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของรัฐบาล และเป็นผู้ป่วยนอก ให้ผู้ประกันตนเป็นผู้ยื่นเรื่องเบิกจากสำนักงานประกันสังคมเอง โดยสำนักงานประกันสังคมจะจ่ายจริงตามความจำเป็น
• หากเข้ารับการ รักษาในสถานพยาบาลของรัฐบาล และเป็นผู้ป่วยใน ให้สถานพยาบาลเป็นผู้ยื่นเรื่องกับสำนักงานประกันสังคม และจ่ายค่าบริการทางการแพทย์ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
• หากเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของเอกชน และเป็นผู้ป่วยนอก จะได้รับค่ารักษาเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท
• หากเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลของเอกชน และเป็นผู้ป่วยใน จะได้รับเงินเท่าที่จ่ายจริง ไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท
• หากมีค่ารักษาพยาบาล หรือค่าพาหนะรับส่งผู้ทุพพลภาพ จะได้เหมาจ่ายไม่เกินเดือนละ 500 บาท
ผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพ และเข้ารับการฟื้นฟูในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานของสำนักงานประกันสังคมจะมี ค่าฟื้นฟูอีก 40,000 บาท

เงินทดแทนการขาดรายได้
ผู้ประกันตนจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ใน อัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง เป็นรายเดือนตลอดชีวิต รวมทั้งค่าอวัยวะเทียม / อุปกรณ์ / อุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค เช่น ผู้ประกันตนมีค่าจ้างเฉลี่ยเดือนละ 10,000 บาท ร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนคือ 5,000 บาท

กรณีผู้ทุพพลภาพเสียชีวิต
กรณีผู้ประกันตนที่ทุพพลภาพถึงแก่ความตาย ผู้จัดการศพมีสิทธิได้รับค่าทำศพ 40,000 บาท โดยสิทธิมีดังต่อไปนี้
• ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปแต่ไม่ถึง 10 ปี จะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ยหนึ่งเดือนครึ่ง
• ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปจะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ยห้าเดือน
8.กรณีเสียชีวิต
ผู้ประกันตนที่เสียชีวิตจากสาเหตุที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำงาน และจ่ายเงินสมทบมาแล้ว 1 เดือน ภายในระยะเวลา 6 เดือน ก่อนเดือนที่เสียชีวิต ผู้จัดการศพ สามารถขอรับค่าทำศพได้ 40,000 บาท

ส่วนผู้ที่จะมีสิทธิ์ได้รับเงินสงเคราะห์ กรณีเสียชีวิตนั้น จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
เป็นผู้ที่จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 10 ปี จะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ยหนึ่งเดือนครึ่ง
หากผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ 10 ปีขึ้นไป จะได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ยห้าเดือน
9.กรณีว่างงาน
หากผู้ประกันตนได้จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน ภายในระยะเวลา 15 เดือนก่อนการว่างงาน สามารถติดต่อขอรับเงินชดเชยกรณีว่างงานได้ โดยต้องขึ้นทะเบียนผู้ว่างงานที่สำนักงานจัดหางานของรัฐภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ว่างงาน โดยไม่ต้องรอหนังสือรับรองการออกจากงาน และต้องรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่สำนักจัดหางานไม่น้อยกว่าเดือนละ 1 ครั้ง

สิทธิประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน
หากผู้ประกันตนประสบอันตราย หรือเป็นโรคจากการทำงาน สามารถขอรับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนได้ตามเงื่อนไขต่อไปนี้

1.กรณีผู้ประกันตนประสบอันตราย หรือเป็นโรคจากการทำงาน ไม่สามารถทำงานได้ติดต่อกันเกิน 3 วันขึ้นไป แต่ไม่เกิน 1 ปี จะได้รับค่าทดแทนจำนวน 60% ของค่าจ้างรายเดือน นอกจากนี้ ลูกจ้างจะได้รับค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนเงินทดแทน เท่าที่จ่ายตามจริง แต่ไม่เกิน 45,000 บาท หากเกิน 45,000 บาท ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นเพิ่มอีกไม่เกิน 65,000 บาท ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ และหากค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายเพิ่มอีก 65,000 บาทไม่เพียงพอให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น เพิ่มขึ้นอีก แต่ไม่เกิน 300,000 บาท โดยให้คณะกรรมการการแพทย์พิจารณาและคณะกรรมการให้ความเห็นชอบ อย่างไรก็ตามการให้นายจ้างจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมจะจ่ายสำหรับลูกจ้างที่มีลักษณะเจ็บป่วยดังต่อไปนี้
• บาดเจ็บอย่างรุนแรงของอวัยวะภายในหลายส่วนและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข
• บาดเจ็บ อย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่งและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข
• บาดเจ็บอย่างรุนแรงของศีรษะและต้องได้รับการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ
• บาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกสันหลังไขสันหลัง หรือรากประสาท
• ประสบภาวะที่ต้องผ่าตัดต่ออวัยวะที่ยุ่งยากซึ่งต้องใช้วิธีจุลศัลยกรรม
• ประสบอันตรายจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก สารเคมี หรือไฟฟ้า จนถึงขั้นสูญเสียผิวหนังลึกถึงหนังแท้เกินกว่าร้อยละ 30 ของร่างกาย
• ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอย่างอื่นซึ่งรุนแรงและเรื้อรังตามที่รัฐมนตรีประกาศ กำหนด

2.หากผู้ประกันตนสูญเสียอวัยวะ จะได้รับเงินค่า รักษาพยาบาล ค่าทดแทน จำนวน 60% ของค่าจ้างรายเดือน ในการหยุดพักรักษาตัว และได้รับค่าทดแทน 60% ของค่าจ้างรายเดือน ตามการสูญเสียอวัยวะแต่ไม่เกิน 10 ปี ทั้งนี้ การประเมินการสูญเสียอวัยวะ ลูกจ้างต้องได้รับการรักษาทางการแพย์จนสิ้นสุดการรักษา และอวัยวะคงที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง หรือเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 1 ปี ลูกจ้างประสบอันตราย
3.หากลูกจ้างจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู จะได้รับค่าฟื้นฟูสามารถเบิกค่าใช้จ่าย คือ ค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูด้านการแพทย์ และอาชีพเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 20,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการผ่าตัด เพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ไม่เกิน 20,000 บาท

ขอขอบคุณข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม
ที่มาจากเว็บไซต์วิชาการ.คอม

More articles

Latest article