ลูก คือผลผลิตจากความรัก มีหลายคนบอกว่าครอบครัวที่สมบูรณ์ประกอบด้วย พ่อ แม่ และลูก อาจจะเป็นความจริงในสมัยก่อน ปัจจุบันเราคงต้องมานั่งทบทวนกันหน่อย เพราะอัตราการเกิดเฉพาะเด็กไทยต่ำลงอย่างมีนัยสำคัญ อาจเป็นเพราะปัญหาทางเศรษฐกิจรุ่มเร้า คนตกงานมากขึ้น ฯลฯ ไม่ว่า…. เหตุผลของคุณคืออะไร? ถ้าคุณให้กำเนิดเขาแล้วก็ควรเลี้ยงด้วยความรัก และให้ความสำคัญกับพัฒนาการของเขา ให้โตมาเป็นคนดี เพื่อสังคมที่ดีในอนาคต
1.ผัก-ผลไม้ จุดเริ่มต้นสำคัญของสุขภาพที่ดี ต้องปลูกฝังตั้งแต่เยาว์วัย เพียงจัดผลไม้วางไว้ที่โต๊ะรับแขก โต๊ะอาหาร หรือบริเวณที่เด็กๆ มองเห็นและหยิบรับประทานได้ง่าย
2.จ่ายตลาด ช่วงเวลาแห่งความสนุกและการเรียนรู้ของเด็กๆ รวมไปถึงการสอนให้อ่านฉลากอาหารข้างกล่องเพื่อเปรียบเทียบคุณค่าของสารอาหาร ต่อด้วยการปรึกษาหารือกันว่าควรจะเลือกซื้ออาหารประเภทใดเข้าบ้าน หรือเปิดโอกาสให้เด็กๆ แสดงความคิดเห็นต่อการจ่ายตลาดในแต่ละครั้ง
3.พ่อครัว-แม่ครัวตัวน้อย คุณพ่อคุณแม่สามารถชักชวนให้เด็กๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการเตรียมและปรุงอาหาร จะทำให้เด็กๆ มีแนวโน้มที่จะรับประทานอาหารมากกว่าปกติ เพราะจะเกิดความภาคภูมิใจที่ได้รับประทานอาหารจากฝีมือของตัวเอง
4.เมนูใหม่ๆ “อดทนและอดทน” คือบทบัญญัติที่คุณพ่อคุณแม่ต้องท่องให้ขึ้นใจและปฏิบัติอย่างเคร่งครัดถ้าต้องการให้เด็กๆ ทดลองรับประทานอาหารใหม่ๆ เพราะจากการศึกษาพบว่าเด็กๆ มักจะปฏิเสธไว้ก่อน หากต้องทดลองรับประทานอาหารเมนูใหม่ที่ไม่คุ้นเคย เราต้องอดทนกับการถูกปฏิเสธนับสิบๆ ครั้ง แต่สุดท้ายมันก็คุ้มที่จะอดทนไม่ใช่หรือ
5.คุณพ่อคุณแม่ สุดยอดไอดอลของลูก ถ้าเด็กๆ ได้รับการปลูกฝังให้บริโภคแต่อาหารที่มีประโยชน์ โดยมีผู้ปกครองเป็นแบบอย่าง เช่น การมีผักและผลไม้เป็นส่วนประกอบของอาหารทุกมื้อ หรือรับประทานผลไม้เป็นของหวานแทนที่จะรับประทานขนม ก็มั่นใจได้ว่าเขาจะต้องก๊อบปี้ลักษณะเหล่านั้นมาจากคุณพ่อแม่คุณแม่แน่นอน
6.วินัยบนโต๊ะอาหาร จากผลการวิจัยการเสิร์ฟอาหารที่โต๊ะอาหารแทนการเสิร์ฟอาหารที่ไหนก็ได้ในบ้าน มีแนวโน้มที่เด็กจะรับประทานอาหารจนเกลี้ยงจาน และเด็กจะเรียนรู้ว่า “เมื่ออาหารเกลี้ยงจาน” คือเวลาสิ้นสุดการรับประทาน
7.ฝึกวินัยให้เด็ก “ลด-ละ-เลิก” พฤติกรรม “กินๆ นอนๆ” ควรสรรหา “กิจกรรมนอกบ้าน” ซึ่งจะตอบโจทย์ความท้าทายและเสริมสร้างสุขภาพให้กับเด็กๆ มากที่สุด เช่น ขี่จักรยาน วิ่งเล่น หรือชู้ตลูกบาสด้วยกัน
8.สร้างสรรค์เมนูล่วงหน้า การจัดทำรายการจับจ่ายของและเตรียมอาหารบางอย่างเผื่อมื้อหน้า นอกจากจะช่วยคุณแม่บ้านให้ไม่ฉุกละหุกแล้ว ยังลดความกังวลในเรื่องการจัดเมนูอาหารในมื้อหน้าอีกด้วย
9.ถั่ว ผลไม้ โยเกิร์ต ชีส สมูตตี้ ของว่างเสริมพลังสุดเฮลตี้ของเด็กๆ อีกทั้งยังสามารถฝึกทำและสร้างสรรค์เมนูใหม่ๆ กับสมูตตี้ในรสชาติที่เด็กๆ ชื่นชอบได้อีกด้วย
10.กิจกรรมเคลื่อนไหว อาจเริ่มด้วยการชักชวนให้เด็กๆ มาทำกิจกรรมร่วมกันในระหว่างที่กำลังทำความสะอาดบ้าน หรือชักชวนให้ใช้การ “เดิน” มากกว่าการขับรถ เมื่อต้องไปซื้อของที่หน้าปากซอย เป็นต้น
เป็นอย่างไรกันบ้างถูกใจกับ 10 วิธีฝึกลูกน้อย ให้ฉลาดกิน ฉลาดเล่น เติบโตอย่างมีอนาคต กันไหมครับ? ไม่ว่าครอบครัวของคุณจะเป็นรูปแบบไหน ผู้เขียนก็หวังให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง และมีความสุขกันทุกคนนะครับ