การประคบร้อน และการประคบเย็น นั้นเป็นวิธีหนึ่งในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ใช้ในกรณีบาดเจ็บที่ “ไม่รุนแรง” เพื่อบรรเทาอาการปวดหรืออักเสบ ใช้ได้ทั้งอาการปวดที่เกิดจากการเจ็บป่วย มีไข้ หรือการได้รับบาดเจ็บระหว่างเล่นกีฬา ฟกช้ำตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย แต่… เราจะเลือกใช้วิธีประคบแบบไหนนั้นให้พิจารณาจากอาการบาดเจ็บ ดังนี้
ประคบร้อน ใช้เพื่อลดอาการปวดและผ่อนคลายกล้ามเนื้อ เมื่อการอักเสบน้อยลงแล้ว หรือมีอาการผ่านไปแล้ว 48 ชั่วโมง ซึ่งสังเกตได้จากไม่มีอาการบวม แดง ร้อน เช่น ปวดตึงของกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า หลัง น่อง ปวดประจำเดือน อาจใช้เจลสำหรับประคบร้อนแบบสำเร็จรูป ใช้กระเป๋าน้ำร้อน หรืออาจใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำร้อน ประคบครั้งละ 15-20 นาที (วันละ 2-3 ครั้ง)
ประคบเย็น ใช้เมื่อมีอาการปวดหรือได้รับบาดเจ็บใหม่ๆ เช่น ปวดศีรษะ มีไข้สูง ปวดฟัน ปวดบวมข้อเท้า ข้อเคล็ด เลือดกำเดาไหล หรือ ปวดบวมบริเวณอื่นๆ เราอาจประคบด้วยถุงห่อน้ำแข็ง หรือใช้เจลสำหรับประคบเย็นแบบสำเร็จรูป ประคบครั้งละ 20-30 นาที (วันละ 2-3 ครั้ง)
ข้อควรระวังการ ประคบร้อน หรือ ประคบเย็น
• ควรห่อหุ้มหนึ่งชั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ความร้อน หรือ ความเย็นสัมผัสผิวหนังโดยตรง
• ไม่ควรประคบบริเวณที่มีแผลเปิด
• ไม่ควรประคบร้อนบริเวณที่มีเลือดออก
• ไม่ควรประคบเย็นกับผู้ที่มีอาการแพ้ หรือไวต่อความเย็นมาก เพราะอาจทำให้เกิดผื่น ลมพิษ บวม หรือความดันโลหิตสูงได้
• ไม่ควรประคบด้วยความร้อนบริเวณแขน ขา ในผู้ป่วยเบาหวาน เพราะอาจทำให้เลือดออกเพิ่ม และเสี่ยงต่อการเกิดแผลติดเชื้อเรื้อรังได้