กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สั่งสาธารณสุขจังหวัดเฝ้าระวัง 6 โรคที่มาพร้อมกับน้ำท่วม พร้อมเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่น้ำท่วม เฝ้าระวัง 6 โรคที่พบได้บ่อยในช่วงน้ำท่วม
สาธารณสุขจังหวัดเฝ้าระวัง 6 โรคที่มากับน้ำท่วม
โดยเร่งให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนเพื่อการป้องกันไม่ให้เจ็บป่วย และขอความร่วมมือประชาชนที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ห้ามถ่ายอุจจาระ หรือทิ้งขยะลงน้ำ เนื่องจากจะทำให้น้ำสกปรก เสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาด โดยเฉพาะโรคที่ติดต่อทางอาหารและน้ำดื่ม เช่น โรคอุจจาระร่วง ไข้ไทฟอยด์ อหิวาตกโรค หากส้วมไม่สามารถใช้การได้ ขอให้ถ่ายอุจจาระลงในถุงดำหรือถุงพลาสติก แล้วมัดปากถุงให้แน่นเพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี
1.โรคฉี่หนู ฉี่หนูเป็นโรคระบาดในคนที่ติดต่อมาจากสัตว์ มีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า เลปโตสไปรา (Leptospira sp.) ที่อยู่ในปัสสาวะของสัตว์ ตั้งแต่หนู วัว ควาย ไปจนถึงสัตว์เลี้ยงอย่างสุนัขและแมวเลย โดยจะสามารถรับเชื้อฉี่หนูนี้ได้ทางบาดแผล หรือผิวหนังที่แช่น้ำเป็นเวลานาน ๆ อาการของโรคฉี่หนู มี 2 แบบ คือ
แบบไม่รุนแรงจะมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดธรรมดา ปวดหัว ตัวร้อน ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้หากผู้ป่วยรู้ตัวและรีบไปพบแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ
แบบอาการรุนแรงที่จะทำให้ตาอักเสบแดง น้ำตาไหล สู้แสงไม่ได้ และเมื่อเชื้อเข้าไปอยู่ในสมองจะทำให้เกิดอาการเพ้อ ไม่รู้สึกตัว และยิ่งไปกว่านั้นหากติดเชื้อทั่วร่างกายจะทำให้เลือดออกในร่างกายจนเสียชีวิต
2.อหิวาตกโรค เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Vibrio Cholerae ที่แพร่กระจายอยู่ในน้ำดื่มและอาหาร โดยมีแมลงวันเป็นพาหะนำโรค และแน่นอนว่าโรคนี้แพร่ระบาดได้โดยการกินและดื่มอาหารที่มีแมลงวันตอมและมี เชื้ออหิวาตกโรคปะปนอยู่ รวมทั้งอาหารสุขๆ ดิบๆ อาการของโรค ผู้ป่วยจะอุจจาระเหลวเป็นน้ำวันละหลายครั้ง และอาจมีอาการปวดท้องหรืออาเจียนได้ ซึ่งถือว่าเป็นอาการในระยะแรกสามารถรักษาให้หายได้ภายใน 1-5 วัน แต่หากติดเชื้อขั้นรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการท้องเดิน อุจจาระมากและมีลักษณะอุจจาระเป็นน้ำซาวข้าว มีกลิ่นเหม็นคาว และอุจจาระได้โดยไม่ปวดท้องและไม่รู้สึกตัว สามารถหายได้ภายใน 2-6 วันหากได้รับเกลือแร่และน้ำชดเชยน้ำที่เสียไป แต่หากได้รับไม่พอดีกับที่เสียไปแล้ว ผู้ป่วยก็จะมีอาการหมดแรง หน้ามืด อาจช็อคถึงเสียชีวิตได้
3.ไข้ไทฟอยด์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Salmonella Typhi ที่อยู่ในน้ำและอาหารเช่นเดียวกับอหิวาตกโรค แพร่ระบาดโดยการดื่มน้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรค อาการของโรค เมื่อได้รับเชื้อนี้เข้าไปจะไม่แสดงอาการทันที แต่จะแสดงอาการหลังจากรับเชื้อประมาณ 1 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัว เบื่ออาหาร มีไข้สูงมาก ท้องร่วง บางรายมีผื่นขึ้นตามตัว แน่นท้อง สามารถหายได้เองภายใน 1 เดือน แต่ผู้ป่วยควรจะพบแพทย์หลังจากมีอาการแล้ว เพราะอาจจะเสียชีวิตจากภาวะปอดบวมได้
4.โรคตับอักเสบ เป็นภาวะที่มีการอักเสบของเซลล์ตับ ทำให้ตับทำงานผิดปกติ จนทำให้มีอาการเจ็บป่วยได้ และไวรัสตับอักเสบที่มาจากภาวะน้ำท่วม ก็คือไวรัสตับอักเสบชนิดเอ ที่มีสาเหตุมาจากการทานอาหารที่ไม่สะอาด ไม่ทำให้สุก อาการของโรค เมื่อแสดงอาการแล้วผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำ เบื่ออาหาร ปวดท้อง ปวดตัวแถวชายโครงขวา และมีปัสสาวะเป็นสีชาแก่ เริ่มมีอาการตัวเหลืองตาเหลืองในสัปดาห์แรก และจะหายเป็นปกติภายใน 2-4 สัปดาห์
5.โรคตาแดง เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส Chlamydia trachomatis และ Bacterial Conjunctivitis อาจมาจากภูมิแพ้ หรือสัมผัสสารที่เป็นพิษเข้าตา มักเกิดจากการเอามือที่สกปรกไปขยี้ตา รวมถึงใช้ผ้าเช็ดตัว หรือผ้าเช็ดหน้าไปสัมผัสกับดวงตา อาการของโรค ผู้ป่วยจะมีอาการคันตาจนต้องขยี้ตาบ่อยๆ หรือบางคนแค่เคืองตาเท่านั้น และมีขี้ตามากกว่าปกติ มีลักษณะเป็นหนองและมีสะเก็ดปิดตาตอนเช้า และมองเห็นได้ไม่ชัดเจน ตามัว หรืออาจปวดตา
6.ไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค มักพบในเด็ก มักระบาดในฤดูฝน ที่มีการแพร่พันธุ์ของยุงลาย อาการของโรค ผู้ป่วยจะมีไข้สูงประมาณ 2-7 วัน เบื่ออาหาร อาเจียนออกมามีสีน้ำตาลปนอยู่ ปวดกล้ามเนื้อ ตัวแดง หรืออาจมีผื่นหรือจุดเลือดตามผิวหนัง หากเข้าสู่ภาวะวิกฤตผู้ป่วยจะไข้ลด มือเท้าเย็น ตัวเย็น ชีพจรเต้นเร็ว อาเจียนมาก ปัสสาวะน้อย ทำให้เข้าสู่ภาวะช็อคได้ หากมีอาการควรรีบพบแพทย์อย่างเร่งด่วน
และนั่นก็คือ 6 โรคที่ระบาดอยู่ในช่วงน้ำท่วมและฤดูฝน ดังนั้น ทุกคนที่ประสบภาวะน้ำท่วม รวมถึงคนทั่วไปที่ต้องเดินลุยน้ำ ก็ควรที่จะระวังการระบาดของโรคเหล่านี้ เพราะไม่ว่าจะอย่างไร? การป้องกันเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าการรักษา เพราะฉะนั้น อย่าลืมใส่ใจสุขภาพอนามัยและพิถีพิถันกับการใช้ชีวิตในช่วงน้ำท่วมและช่วงฤดูฝนมากขึ้นกันสักนิดนะคะ