ขึ้นชื่อว่า มะเร็ง เราทุกคนต่างก็วิ่งหนีกันหมดแต่สำหรับบางคนยิ่งวิ่งหนีเหมือนจะยิ่งตามโดยเฉพาะผู้หญิงยิ่งมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าผู้ชาย สถิติล่าสุดพบคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 56,058 รายต่อปี หรือประมาณ 88.34 คนต่อประชากร 1 แสนคน คิดเป็น 4,671 คน ต่อเดือน หรือพูดให้ย่อยลงไปอีกก็คือ 156 คนต่อวัน และแน่นอน ว่าโรคมะเร็งที่เป็นกันมากอันดับ 1 ก็คือ มะเร็งตับและทางเดินน้ำดี ตามด้วยมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก
ขอย้ำถึงปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็น โรคมะเร็ง ก็คือ หนึ่ง ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกาย เช่น สารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในอาหาร อากาศ เครื่องดื่ม ยารักษาโรค ฯลฯ รวมทั้งการได้รับรังสี เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และพยาธิบางชนิด สอง ได้แก่ปัจจัยภายในร่างกาย เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม ความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน และภาวะทุพโภชนาการ เป็นต้น
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มีโอกาสเป็นโรคมะเร็ง
1. สูบบุหรี่ มีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งระบบหายใจ ได้แก่ ปอด และกล่องเสียง
2. ดื่มสุราเป็นประจำ เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับ ถ้าดื่มทั้งสุราและสูบ บุหรี่ จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งช่องปากและในลำคอด้วย
3. ผู้ที่เป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี หรือ ผู้ที่ชอบรับประทานอาหารที่มีสารพิษ อะฟลาทอกซิล (พบได้จากเชื้อราที่ปนเปื้อนในอาหาร อาทิ ถั่วลิสงป่น) หากกินเป็นประจำมีความเสี่ยงต่อการ เป็นมะเร็งตับ
4. รับประทานอาหารไขมันสูงเป็นประจำ จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม ลำไส้ใหญ่ เยื่อบุมดลูก และต่อมลูกหมาก
5. ผู้ที่ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ และรับประทานอาหารที่ใส่ดินประสิวเป็นประจำ จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในตับ
6. ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอันเกิดจากความ ผิดปกติจากพันธุกรรม หรือติดเชื้อไวรัสเอดส์ เสี่ยง ต่อการเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งปากมดลูก มะเร็งของหลอดเลือด
7. คนที่ชอบกินเค็มจัด กินอาหารที่มีส่วนผสมของดินประสิว รวมทั้งอะไรที่ไหม้ๆ เกรียมๆ เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารและ ลำไส้ใหญ่
8. ผู้ที่มีประวัติโรคมะเร็งในครอบครัว อาทิ มะเร็งของจอตา มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และมะเร็งลำไส้ใหญ่ชนิดที่เป็นติ่งเนื้อ มีความ เสี่ยงสูงต่อการเป็นมะเร็ง
9. ผู้ที่ตากแดดจัดเป็นประจำ จะได้รับอันตรายจากแสงแดดที่มีปริมาณของแสง UV จำนวนมาก มีผลทำให้เป็นมะเร็งผิวหนังได้
ไม่อยากเป็นหนึ่งในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ลองปรับเปลี่ยนแนวคิดในการดำรงชีวิตแบบง่ายๆ ยึดหลัก Good Health สุขภาพดีกับการเลือกรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการและออกกำลังกาย Good Life ใช้ชีวิตถูกต้องด้วยการทำจิตใจให้เบิกบาน มีทัศนคติที่ดี มีบุคลิกภาพที่ดี รู้จักดูแลตัวเองทั้งรูปร่าง หน้าตา และการแต่งกาย