24.9 C
Thailand
วันศุกร์ 22 พฤศจิกายน 2024

เก่งภาษา 50 ล้าน หนังสือที่จะช่วยคุณให้เก่งทุกภาษาได้ในเวลารวดเร็ว

Recommend

One
Onehttp://www.bkkparttime.com/
เว็บรวมงานพาร์ทไทม์ ฟลูไทม์ จากบริษัทชั้นนำทั่วประเทศ

สวัสดีค่ะเพื่อนๆ วันนี้เฟิร์นจะมาแนะนำหนังสือเล่มหนึ่งค่ะ เป็นหนังสือของคุณบัณฑิต อึ้งรังษี “เก่งภาษา 50 ล้าน” เฟิร์นอ่านโน็ตย่อที่ คุณจิว “เจ้าของเพจ เลิกท่องศัพท์” เขียนย่อไว้ อย่างน่าสนใจ จึงอยากให้เพื่อนๆ ลองอ่านดูนะค่ะ ด้านล่างนี้จะเป็นบทย่อที่คุณจิวเขียนถึงหนังสือเล่มนี้ค่ะ

เก่งภาษา 50 ล้าน

สวัสดีครับวันนี้ผมจะมาแนะนำและพูดถึง “หนังสือสอนภาษาที่ดีที่สุด” กันครับหนังสือเล่มนี้ชื่อว่า “เก่งภาษา 50 ล้าน” หนังสือเล่มนี้ ติดอันดับ 1 Bestseller ติดต่อกันเป็นเวลาสามเดือน เขียนโดย Bundit Ungrangsee บัณฑิต อึ้งรังษี นักเขียนอันดับต้นของเมืองไทย ที่เปลี่ยนชีวิตคนไทยมาแล้วจำนวนมากครับ หนังสือเล่มนี้สรุปไอเดียทุกอย่างที่สำคัญกับการเรียนภาษามาไว้ได้ดีและครบถ้วนมาก สำคัญคือ หนังสือเล่มนี้สามารถช่วยให้ทุกคนอ่านแล้วเก่งได้ “ทุกภาษา” ไม่ใช่แค่ภาษาอังกฤษอย่างเดียว ผมเลยขอถือโอกาสนี้มาแชร์ “ความรู้ชั้นเลิศ” ที่ผมได้จากหนังสือเล่มนี้ให้ทุกคนอ่านกันครับ

หนังสือเล่มนี้ แบ่งเนื้อหาออกเป็นสองส่วน คือ A Winning Mindset และ Method วันนี้ผมขอพูดถึงตอนแรก โดยขอสรุปเป็น “9 เทคนิคเก่งภาษา (ทุกภาษา) ได้ง่ายๆ แค่ปรับ Mindset” Mindset.. เรียกสั้นๆได้ว่า “หลักคิด” ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการเรียนภาษา แต่กลับเป็นสิ่งที่หลายคนที่เรียนภาษาอยู่ มองข้ามกันมากที่สุดหลักคิดสำคัญในการเรียนภาษา คือ “เราคือผู้ลิขิตชะตาของตัวเอง” ไม่มีใคร หรืออะไรช่วยให้เราเก่งภาษาได้ นอกจากตัวเราเองเท่านั้น ต่อไปนี้คือ ไอเดียสำคัญในการปรับ Mindset จากหนังสือ “เก่งภาษา 50 ล้าน” ที่ผมสรุปสำคัญๆมาสั้นๆตามมุมมองของผมที่ได้รับจากหนังสือ บวกกับประสบการณ์ฺตรงที่ตรงกับไอเดียในหนังสือ เพื่อให้เป็นแนวทางสำหรับทุกคนที่อยากเก่งภาษา “ให้คล่องและเร็ว” ครับ

1. อยากเก่งภาษา ต้องมีแรงจูงใจ “Motivation fuels the engine.”
ตอบตัวเองให้ได้ว่า “เรียนภาษาไปทำไม” เมื่อมีเหตุผลที่จูงใจมากพอ คุณก็จะมีพลังในการเรียนภาษาที่ทวีคูณ (ประสบการณ์ส่วนตัว) สำหรับผมแล้ว ข้อนี้เป็นข้อที่สำคัญที่สุด แต่ก่อน ผมแทบพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย จนพัฒนาตัวเองได้ จากแรงจูงใจที่สร้างให้กับตัวเอง… บอกตัวเองว่า “คุยกับฝรั่งได้ มันเท่ห์ดี เราเองก็ทำได้หนิ…เอาวะ… สู้โว้ย!” จงอย่าดูถูกพลังขับเคลื่อนจากภายในเด็ดขาด เพราะพลังมันทวีคูณกว่าที่คิดไว้มาก!

2. ภาษาไม่ยาก และคุณเองก็เก่งได้ “Believe in yourself.”
เลิกบอกตัวเองว่า “ฉันไม่เก่งภาษา สู้คนอื่นไม่ได้หรอก” แล้วให้พลังความเชื่อในตัวเองว่า “ฉันเก่งภาษาได้ และเก่งได้กว่าคนอื่นด้วย” (ประสบการณ์ส่วนตัว) ผมเองมักบอกตัวเองเสมอในทุกเรื่องว่า…ความเชื่อคือจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ เราไม่มีวันสำเร็จในสิ่งที่เราไม่เชื่อได้อย่างแน่นอน วันที่ผมเริ่มลุยฝึกภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง ประโยคที่ผมใช้ปลุกความเชื่อตัวเองคือ… “You can and you will.” (No excuses!)

3. ตั้งเป้าให้สูงเข้าไว้ “Aim high.”
ก่อนเรียนภาษา เราควรตั้งเป้าให้ตัวเองว่า “เราจะเก่งภาษาให้ได้แค่ไหน” ตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย ไม่เวอร์ไป และรู้ว่าทำได้ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ตัวเอง ถึงเราจะไปไม่ถึงเป้า 100 เปอร์เซนต์ แต่ผลที่ได้คือ “เราเดินหน้าไปสู่ร้อยทุกวัน” (ประสบการณ์ส่วนตัว) …เป้าหมายอันหนึ่งที่ผมเคยตั้งไว้ก่อนเรียนภาษาอังกฤษคือ “การอ่านหนังสือภาษาอังกฤษโดยไม่ต้องเปิดดิก” หลังจากที่ผมตั้งเป้านี้ขึ้นมา.. ผมก็ลุยอ่านบทความและหนังสือแนวที่ชอบอ่านในภาษาอังกฤษ โดยพยายามไม่เปิดดิก และใช้การเดาจากบริบทอย่างเดียวเท่านั้น เพราะผมรู้ว่า ไม่มีทางหรอกที่ผมจะรู้ศัพท์ทุกคำได้ในเวลาสั้น ผมจึงเลือกสร้างทักษะการเดาความจากคำแวดล้อมเรื่อยๆ จนวันนี้ ผมสามารถอ่านหนังสือภาษาอังกฤษได้ โดยไม่ต้องเปิดดิกแล้ว ไม่ใช่เพราะรู้ศัพท์ทุกคำ… แต่เป็นเพราะ “ผมฝึกเดาจนชิน” และนี่เอง คือ เหตุผลที่ทุกคนควรมีเป้าหมายก่อนเรียนภาษา

4. หา Idol เก่งภาษา “Find Role Models.”
การมี idol ที่ชื่นชมด้านความเก่งภาษา จะช่วยเราผลักดันตัวเองให้เก่งเหมือน idol เราได้ …แค่นึกภาพตัวเองพูดได้คล่องเหมือนกับ idol ของเราบ่อยๆ แค่นี้ก็ช่วยให้ความรู้สึกดีกับเรา และเป็นแรงผลักให้เราเก่งภาษาได้อย่างมหาศาลแล้ว

Tips: ลองหา idol ที่เป็นคนไทย สำเนียงภาษาอังกฤษดีเหมือนเจ้าของภาษา แต่ไม่เคยไปเรียนต่อ หรือ อยู่ต่างประเทศเลย อาศัยแค่การฝึกภาษาอังกฤษด้วยตัวเองเท่านั้น ดูสิครับ…รับรองว่าจะมีกำลังใจให้ตัวเองเยอะขึ้นทันที และไม่ต้องมีข้ออ้างอีกด้วยว่า “เก่งภาษาอังกฤษไม่ได้สักที เพราะไม่ได้ไปนอก”

5. ภาษาต้องสนุก “Learning should be fun.”
การเรียนภาษาต้องสนุก ไม่เครียด และไม่น่าเบื่อ ยิ่งสนุก >> ยิ่งอยากเรียน >> ยิ่งเก่งขึ้น / ยิ่งจำ >> ยิ่งหมดสนุก >> ยิ่งลืมง่าย (ประสบการณ์ส่วนตัว) …ผมเองเคยเป็น “นักท่อง” มาตอนสมัยเรียน และพบว่าที่ท่องมา ลืมเกือบหมดหลังสอบ และหลังเรียนจบ แถมเอาสิ่งที่จำนั้น ใช้มาช่วยสื่อสารในชีวิตจริงได้ไม่ถึงครึ่ง ผมเลยตัดสินใจ “เลิกท่อง” แล้วหันมา “คลุกคลี” กับภาษาอังกฤษผ่านสื่อต่างๆที่ตัวเองชอบและสนุก “ทุกวัน” ผมพบว่าเป็นวิธีที่ดีและเร็วที่สุด แถมไม่ฝืนธรรมชาติและไม่รู้สึกเหมือนกำลังเรียนภาษา แต่ “สนุกกับภาษา” ซะมากกว่า แนะนำให้ทุกคนลองทำตามกันดูครับ!

6. ซ้อม ซ้อม และก็ซ้อม “The more you practice, the easier it gets.”
การฝึกฝนบ่อยๆ คือหัวใจของการเก่งภาษาให้คล่องได้เร็ว คนที่เก่งภาษา ไม่ใช่ “ผู้ที่มีความจำเป็นเลิศ” แต่คือ “ผู้ที่มีชั่วโมงบินสูง” (คำแนะนำส่วนตัวแบบง่ายๆ) อยากฟังให้ออก…ฟังให้เยอะ อยากพูดให้คล่อง…พูดให้เยอะ อยากเขียนให้ดี…เขียนให้เยอะ อยากอ่านให้รู้เรื่อง…อ่านให้เยอะ

7. ปูพื้นฐานภาษาด้วยการฟังและอ่าน “Input equals Output.”
เริ่มปูพื้นฐานภาษาด้วยการฟังและอ่านให้เยอะก่อน แล้วทักษะการพูดและเขียนจะพัฒนาได้ง่ายขึ้น (ประสบการณ์ส่วนตัว) …ผมเองแต่ก่อนเคยมีปัญหาด้านการเขียนและแกรมม่ามาก จนหลังจากที่เริ่มอ่านหนังสือและบทความภาษาอังกฤษเยอะๆ ทักษะการเขียนและพื้นฐานแกรมม่าก็ดีขึ้นเรื่อยๆไปโดยอัตโนมัติ และนี่เองคือ เคล็ดลับอีกอย่างของการเก่งแกรมม่าให้เร็ว “อ่านให้เยอะ + เขียนให้เยอะ”

8. ผิดได้ ไม่เป็นไร “Mistakes are inevitable.”
เป้าหมายของการเรียนภาษา คือ “การสื่อสารให้เข้าใจ” อย่ามองภาษา เป็นเหมือนข้อสอบที่มี “ถูกและผิด” จนทำให้กลัวและ “อายที่จะผิด” (ประสบการณ์ส่วนตัว) …สมัยก่อน ตอนผมฝึกพูดภาษาอังกฤษใหม่ๆ จะเกิดอาการ “เกร็ง” พูดออกมาเป็นเหมือนภาษาเขียน เพราะมัวแต่ “กลัวผิด” และนึกแต่ประโยคที่เคยเรียนมา ซึ่งไม่เป็นธรรมชาติเอาซะเลย จนวันหนึ่ง ก็พบกับความจริงที่ยังคงใช้อยู่ทุกวันนี้ว่า… “พูดไปเถอะ พูดแบบไม่ต้องคิดมากด้วยนะ ผิดได้ผิดไป.. แค่เขารู้เรื่อง เราก็โคตรเก่งแล้ว!”

9. การเรียนภาษา ไม่มีวันสิ้นสุด “Learning Language is a journey of a lifetime.”
การเรียนภาษา ไม่มีเส้นชัย แต่คือการเดินทางไปเรื่อยๆ เจอสิ่งใหม่ๆให้พัฒนาและเรียนรู้ไปแบบไม่มีสิ้นสุด …จงอย่าหยุดเรียนรู้ และอย่าหยุดฝึกฝน (ประสบการณ์ส่วนตัว) หลังจากที่ภาษาเราพัฒนาได้ดีระดับหนึ่งแล้ว ภาษาเราจะไม่ดิ่งลงเหวไป เวลาที่ห่างหายไป ไม่ได้ใช้ภาษาเป็นเวลานาน แต่ “ภาษาเราจะถดถอยลง” และจำเป็นจะต้องฟื้นฟู ใช้เวลาปัดฝุ่นใหม่ เทคนิครักษาภาษาไม่ให้ถดถอยคือ “ลับคมภาษา” บ่อยๆ ง่ายๆ ด้วยการคลุกคลีกับสื่อภาษาที่เรียนเรื่อยๆเมื่อมีโอกาส แค่นี้ ภาษาก็จะไม่ห่างไกลจากเรา จนต้องใช้คำว่า “รื้อฟื้น” แล้ว

อ้างอิงข้อมูลจาก FB: stopmemo (เลิกท่องศัพท์) สนใจสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ bunditinspire.com

More articles

Latest article