โรคต้อเนื้อ (Pterygium) เป็นโรคกลุ่มเดียวกันกับต้อลม แต่มีการยื่นเข้าไปในส่วนของกระจกตา (ตาดำ) มักพบบริเวณหัวตามากกว่าหางตา ต่อเนื้อเกิดจากการเสื่อมสภาพของเยื่อบุตาบริเวณที่โดนแดด ฝุ่น และลม แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนของการเกิดต้อเนื้อ แต่… พบความสัมพันธ์เกี่ยวกับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ซึ่งมักพบว่าคนที่อาศัยในเขตอากาศร้อน ต้องทำงานหรือใช้ชีวิตกลางแจ้ง มีลมแรง ฝุ่น และควัน เป็นประจำมีโอกาสเป็นต้อเนื้อมากกว่าปกติ
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นต้อเนื้อ?
ถ้ามองเข้าไปที่ตาจะเห็นก้อนเนื้อ สีชมพู เป็นรูปสามเหลี่ยมยื่นเข้าไปในตาดำ ถ้ามีการอักเสบมักเห็นเป็นสีแดงมากขึ้น ถ้าต้อลมจะอยู่แต่ที่ตาขาว คนที่เป็นต้อเนื้อจะมีอาการระคายเคืองตา ตาแดง อาจคันหรือมีน้ำตาไหลถ้าโดนฝุ่นหรือลม ถ้าเป็นมากๆ อาจกดกระจกตาทำให้มีสายตาเอียง หรือถ้าเป็นมากจนลุกลามไปบังตรงกลางของตาดำ อาจทำให้การมองเห็นมัวลงได้
เราจะป้องกันได้อย่างไร?
หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เจอแดดแรงๆ หรือ ควรสวมแว่นกันแดด กางร่ม หรือสวมหมวกเพื่อไม่ให้ตาโดนแสงแดดโดยตรง
ถ้าเป็นต่อเนื้อแล้วเป็นไม่มากอาจไม่จำเป็นต้องผ่าตัด อาจรักษาด้วยยาลดการอักเสบ ลดแดง หรือลดอาการระคายเคืองเป็นครั้งคราว แต่ถ้ามีอาการอักเสบบ่อยๆ หรือต้อเนื้อใหญ่มากขึ้น จนทำให้การมองเห็นแย่ลง อาจต้องทำการผ่าตัดลอกต้อเนื้อ ต้อเนื้อไม่อันตรายโดยปกติจะไม่ทำให้ตาบอด
ทั้งนี้ การผ่าตัดทำได้โดยแค่ฉีดยาชาเฉพาะที่ใช้เวลาไม่นาน แต่การดูแลหลังผ่าตัดเองก็เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ คนไข้ต้องหยอดยาตามแพทย์สั่ง และหลีกเลี่ยงการเจอผุ่น ลม แดด ไม่เช่นนั้นต้อเนื้ออาจกลับเป็นซ้ำได้ ซึ่งจะมีการอักเสบรุนแรงมากขึ้น และการทำผ่าตัดซ้ำก็ทำได้ยากขึ้น
การผ่าตัดต้อเนื้อมีหลายวิธีดังนี้
- การลอกต้อเนื้อเพียงอย่างเดียว โดยไม่เอาเยื่อบุใดๆ มาแปะ วิธีนี้ทำในกรณีผู้ป่วยอายุมาก ต้อเนื้อไม่มีการอักเสบมาก ปัจจุบันไม่นิยมเนื่องจากอัตราการเกิดซ้ำสูงมาก
- การลอกต้อเนื้อ และเอาเยื่อบุตามาแปะ คือนอกจากตัดต้อเนื้อ ออกแล้ว ยังเอาเยื่อบุตาส่วนบนของตาคนไข้เอง มาเย็บเข้าในบริเวณที่เป็นต้อเนื้อเดิม วิธีนี้ช่วยลดการเกิดซ้ำได้ดีมาก
- การลอกต้อเนื้อ และเอาเยื่อหุ้มรกมาแปะ วิธีทำผ่าตัดเหมือนวิธีที่ 2 แต่ใช้เยื่อหุ้มรกมาเย็บแทน ทำให้ไม่ต้องใช้เยื่อบุตาของคนไข้ และใช้ได้ในกรณีเป็นซ้ำ และได้ใช้เยื่อบุตาตนเองไปแล้ว
- การลอกต้อเนื้อโดยการใช้ mitomicin c ร่วมกับใช้เยื่อหุ้มรก หรือ เยื่อบุตาแปะ จะช่วยลดการเกิดซ้ำได้ดี โดยเฉพาะในคนไข้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดซ้ำ แต่ก็ต้องใช้ยานี้อย่างระมัดระวังเนื่องจากอาจมีข้อแทรกซ้อนจากยา การแปะเยื่อหุ้มรกหรือเยื่อบุตานั้น อาจใช้ไหมเย็บ หรืออาจใช้กาว fibrin แปะโดยไม่ต้องเย็บก็ได้ ทั้งต้อลมและต้อเนื้อนั้น
อ้างอิงข้อมูล : พญ.ธารินี เสงี่ยมพรพาณิชย์
ถ้าเราทราบว่าเป็นแล้ว การป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้นเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ซึ่งทำได้ไม่ยากเพียงแค่ระวังหรือหลีกเลี่ยงการโดนแดด ฝุ่น ลม โดยตรง เช่น ใส่แว่นกันแดด ใช้ร่ม สวมหมวก