โรคกระเพาะ เราคงทราบดีว่าโรคนี้เป็นโรคที่รักษาให้หายขาดยาก แล้วยังสามารถกลับมาเป็นได้เรื่อยๆ หากไม่ดูแลสุขภาพให้ดี โดยส่วนใหญ่แล้วคนที่สูบบุรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ จะมีโอกาสเป็นได้มากกว่าคนปกติทั่วไป รวมถึงการกินอาหารไม่เป็นเวลา หรือกินอย่างเร่งรีบ ภาวะความเครียด ความวิตกกังวล ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง
โรคกระเพาะ คือ ภาวะผิดปกติที่มีสาเหตุจากมาจากกรดในกระเพาะเพิ่มขึ้น จนทำให้เกิดอาการปวด เสียด ตื้อ จุก แน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่ อาจปวดท้องก่อนและหลังรับประทานอาหาร โรคนี้ไม่ใช่โรคร้ายแรงอะไรหากรู้ตัว และรักษาตั้งแต่ต้น หากปล่อยให้เรื้อรังอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร หรือมีเลือดไหลในกระเพาะอาหาร จนเกิดภาวะแทรกซ้อนกลายเป็นโรคมะเร็งในที่สุด
อาการเบื้องต้นของโรค :
• ปวด เสียด ตื้อ จุก และแน่นบริเวณใต้ลิ้นปี่
• ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอบ่อย
• ปวดท้องก่อนและหลังรับประทานอาหาร เป็นๆ หายๆ
• ปวดท้องกลางดึก เป็นๆ หายๆ
• คลื่นไส้หรืออาเจียนหลังรับประทานอาหาร หรือถ่ายเป็นเลือด
• ไม่อยากอาหาร เบื่ออาหาร ผอมลง
อย่างไรก็ดีอาการของผู้ป่วยแต่ละรายอาจแตกต่างกัน ถ้าหากเกิดขึ้นต่อเนื่องนานเป็นสัปดาห์ ก็ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
อาหารที่ช่วยบำรุงและบรรเทาอาการ (เบื้องต้น) :
• กล้วยน้ำว้า ในผลกล้วยนั้นมีน้ำ แป้ง โปรตีน ไขมัน ใยอาหาร เกลือแร่วิตามิน และเอนไซม์ต่างๆ มากมาย ทั้งยังช่วยเร่งสมานแผลในกระเพาะอาหารอีกด้วย
• กระเทียม มีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อได้ดีเทียบเท่ายาเพนนิซิลิน สเต็ปโตไมซิน และอีริธโธไมซิน แถมยังใช้กับแบคทีเรียดื้อยาได้อีกด้วย ฉะนั้นการกินกระเทียมสดจึงดีที่สุด
• ว่านหางจระเข้ สมุนไพรยอดฮิตที่หาได้ง่าย นอกจากจะมีสรรพคุณช่วยลดอาการอักเสบแล้ว ยังมีสารไกลโคโปรตีนที่สามารถช่วยรักษาโรคกระเพาะและอาการกรดไหลย้อนได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
• ขมิ้นชัน สมุนไพรไทยที่คนไทยรู้จักนำมาใช้ประโยชน์กันนานแล้ว นอกจากจะใช้ทำอาหารได้หลากหลาย ยังมีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดท้อง ท้องอืด แน่นจุกเสียดได้ด้วย จึงนิยมนำขมิ้นมาใช้สมานแผลในกระเพาะอาหาร ทำความสะอาดลำไส้ รักษาโรคกระเพาะอาหาร
นอกจากจะรับประทานอาหารเหล่านี้แล้ว อย่าลืมพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ตรงเวลา และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ข้อแนะนำในการปฏิบัติเมื่อเป็นโรคกระเพาะ :
• ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ได้แก่ การกินอาหารตรงเวลาทุกมื้อ กินอาหารที่ย่อยง่าย
• งดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
• ไม่เครียดหรือวิตกกังวล และพักผ่อนให้เพียงพอ
• ไม่ซื้อยารับประทานเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร
โรคกระเพาะอาหารสามารถรักษาให้หายได้ หากได้รับการดูแลรักษาที่ดี และผู้ป่วยมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของตนเอง แต่หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองแล้ว ยังมีอาการไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่น การตรวจโดยการส่องกล้องระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น