สารอันตรายที่มากับอาหารไหว้เจ้า ที่ อย. มักตรวจพบในอาหาร ในช่วงเทศกาลตรุษจีน มีการจับจ่ายซื้อหาอาหารเป็นจำนวนมากจากแหล่งต่างๆ เพื่อประกอบพิธีเซ่นไหว้และมักจะเก็บอาหารนั้นไว้รับประทานหลังเสร็จพิธี ซึ่งหากไม่ระมัดระวังในการเลือกซื้ออาจได้อาหารที่ไม่มีคุณภาพหรือมีการปนเปื้อนสารอันตราย
สารอันตรายที่มากับอาหารไหว้เจ้า
- ฟอร์มาลิน ในอาหารทะเล ผักผลไม้ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะส่งผลต่อตับ ไต หัวใจ สมอง และหากได้รับในปริมาณมากอาจถึงขั้นเสียชีวิต
- บอแรกซ์ ในลูกชิ้น ตังกวยแฉะ (ขนมฟักแห้ง) ขนมอี้ หากเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดอาการพิษเฉียบพลัน อาเจียน ท้องเสียเป็นเลือด ผิวหนังร้อนแดง ความดันลด หมดสติ และเสียชีวิตได้
- สารกันรา หรือกรดซาลิซิลิค ในผักดอง ผลไม้ดอง เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้
- สารฟอกขาว ในถั่วงอก เต้าหู้ หน่อไม้จีน ขิงซอย และเส้นก๋วยเตี๋ยว หากเข้าสู่ร่างกายจะเกิดอาการอักเสบบริเวณอวัยวะที่ได้สัมผัส เช่น ปาก กระเพาะอาหาร แน่นหน้าอก ปวดท้อง อาเจียน และอาจเสียชีวิตได้
- สารฆ่าแมลง ในผักสด ผลไม้ และปลาหมึกแห้ง หากได้รับในปริมาณมากๆ จะทำให้กล้ามเนื้อสั่น ชักกระตุก หายใจขัด หมดสติ และอาจทำให้เป็นโรคมะเร็งได้
ดังนั้น เพื่อความปลอดภัย อย. จึงมีข้อแนะนำในการเลือกซื้ออาหาร ดังนี้ อาหารสด ต้องมีสภาพปกติ เนื้อแน่น สีสม่ำเสมอตามธรรมชาติ ปราศจากกลิ่นที่น่ารังเกียจ หรือกลิ่นฉุน แสบจมูก และมีการเก็บรักษาระหว่างการจำหน่ายที่ถูกสุขลักษณะ ผักและผลไม้ เลือกที่มีตามฤดูกาล และล้างทำความสะอาดก่อนนำมาประกอบอาหาร หรือรับประทาน ขนมต่าง ๆ เช่น ขนมเข่ง ขนมอี้ ขนมเทียน ตังกวยแฉะ (ขนมฟักแห้ง) ขนมจันอับ ขนมถ้วยฟู ควรเลือกที่สีไม่ฉูดฉาด มีสีกลิ่นรสปกติ บรรจุในภาชนะที่สะอาดและไม่มีสีออกมาปนเปื้อนกับอาหาร อาหารสำเร็จรูปที่ปรุงเสร็จแล้ว ไม่ว่าจะเป็นไก่ต้ม เป็ดต้ม ของทอดและน้ำจิ้ม ควรเลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่สะอาด ถูกสุขลักษณะ อาหารสำเร็จรูป อาทิ ซอส ซีอิ๊ว ผลไม้กระป๋อง ต้องสังเกตฉลากอาหารให้ครบถ้วน มีเครื่องหมาย อย. และมีการแสดงวันเดือนปีที่ผลิต และหมดอายุ
หลังจากทำพิธีเซ่นไหว้แล้ว ควรเก็บอาหารในอุณหภูมิที่เหมาะสม อาหารที่ปรุงสุก เน่าเสียง่าย ควรเก็บในตู้เย็น และไม่วางอาหารที่สุกแล้ว เช่น ไก่ เป็ด ไว้นานเกินกว่า 2 ชั่วโมงโดยไม่แช่เย็น ที่สำคัญเมื่อจะนำมารับประทานควรอุ่นอาหารก่อนทุกครั้ง