24.2 C
Thailand
วันศุกร์ 22 พฤศจิกายน 2024

ทางช้างเผือก..ความทรงจำที่กลับมา มานะ มานี ปิติ ชูใจ

Recommend

One
Onehttp://www.bkkparttime.com/
เว็บรวมงานพาร์ทไทม์ ฟลูไทม์ จากบริษัทชั้นนำทั่วประเทศ

เดือนมกราคม พ.ศ.2544 นิตยสารอะเดย์ได้ปลุกให้ มานะ มานี ปิติ ชูใจ กลับมาทักทายเตือนความทรงจำในวัยเด็กของพวกเราอีกครั้ง กระแสต้อนรับ “เพื่อนเก่า” เป็นไปอย่างอบอุ่นจนทำให้ตัวละครเหล่านั้นได้มาโลดแล่นอยู่กับพวกเราเป็น เวลาติดต่อกันถึง 1 ปี

พอได้รับการติดต่อจาก คุณโหน่ง วงศ์ทนง ให้เขียนเรื่อง มานะ มานี ลงเป็นตอนๆ ในนิตยสารอะเดย์ ครูดีใจมาก มันเหมือนกับทำให้ชีวิตของเรากลับคืนมา ครูมีความสุขกับการได้ใกล้ชิดกับตัวละครพวกนั้นอีกครั้ง

ทางช้างเผือก เพิ่มเติมสีสันของเนื้อหามากยิ่งขึ้น โดยเรื่องราวจะมีความน่าตื่นเต้น มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ตื่นตาตื่นใจ รวมไปถึงผู้เขียนยังได้สร้างตัวละครตัวใหม่ๆ ที่เข้ามาเป็นจุดเปลี่ยนให้กับตัวละครตัวเดิมได้อีกมากมาย

เสน่ห์ของตัวละครแต่ละตัวยังคงดึงดูดผู้คนให้นึกถึงเรื่องราวในวัยเด็กไม่เสื่อมคลาย ทางช้างเผือกจึงกลายเป็นหนังสืออันดับต้นๆ ที่ใครหลายคนอยากเก็บไว้เป็นสมบัติแห่งความทรงจำเห็นได้จากยอดพิมพ์ที่มีการพิมพ์ซ้ำเป็นครั้งที่ 8 ภายในระยะเวลาสั้นๆ แสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างวัยเยาว์อันมีค่ากับชิ้นส่วนแห่งอดีตชิ้นเล็กๆ ชิ้นนี้

ความแตกต่างระหว่างหนังสือทางช้างเผือกกับแบบเรียนภาษาไทยชุดเก่านั้น อาจารย์รัชนีอธิบายว่าในหนังสือทางช้างเผือก ชีวิตของเด็กๆกลุ่มนี้จะดำเนินไปอย่างเป็นเรื่องราวและสมจริงมากขึ้นเพราะตอนที่อยู่ในแบบเรียนจะต้องระมัดระวังด้านการใช้ภาษาอีกทั้งยังต้องใส่ คำที่ทางหลักสูตรกำหนดให้เด็กได้เรียนรู้ความหมาย แต่เรื่องราวในหนังสือทางช้างเผือกนี้ จะสนุกสนาน ตื่นเต้น เร้าใจ เพื่อให้เหมาะกับผู้อ่านที่มีทั้งวัยเด็กวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่

เมื่อถามไถ่ถึงที่มาของชื่อหนังสือ อาจารย์รัชนี ได้อธิบายว่าด้วยสาเหตุที่แบบเรียนภาษาไทยชุดนี้ไม่เคยมีชื่อเรียกเฉพาะมาก่อนจึงต้องมีการตั้งชื่อใหม่ให้เข้ากับเนื้อเรื่องมากที่สุด

ครูตั้งใจให้ ตั้งชื่อเรื่องนี้ว่า ทางช้างเผือก เพราะจะได้เปรียบเหมือนเป็นทางชีวิตของเด็กดี ให้เห็นถึงทางเดินชีวิตอันงดงามของเด็กกลุ่มนี้ และอีกแง่หนึ่งก็จะหมายถึง ทางช้างเผือกที่เป็นกลุ่มดาวเรียงต่อกันบนท้องฟ้า ซึ่งตัวละครในเรื่องเขาจะอธิษฐานต่อทางช้างเผือกให้พวกเขาสมหวังในสิ่งที่ บริสุทธิ์

ทางช้างเผือก

เมื่ออดีตเดินทางกลับมา

โหน่ง” วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ แห่งอะเดย์ ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ นิตยสารอะเดย์ ได้พา “เพื่อนเก่า” ของพวกเรากลับมา

“มีข้อวิจารณ์ข้อหนึ่งที่มีต่ออะเดย์ว่าทำไมอะเดย์ถึงชอบเล่นเรื่องโบราณ ทั้งที่ตัวหนังสือเองก็เป็นหนังสือสมัยใหม่ แต่กลับชอบพาผู้อ่านย้อนเวลาไปยังอดีตอยู่เสมอ ผมคิดว่าทางช้างเผือกเป็นคำตอบที่ดีของคำถามนี้ การที่เราย้อนอดีตกลับไปสู่สิ่งที่ดีงามมันคือสิ่งที่ดี มันทำให้เราได้ทบทวนชีวิต ได้พิจารณาถึงสิ่งที่ดีงามในอดีตเพื่อมาทำให้ชีวิตปัจจุบันและอนาคตดีขึ้น เพราะสิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างที่ดี ๆ ที่เราจะไม่ปล่อยให้มันสูญหายไป” วงศ์ทนงกล่าว

แม้จะยังมีอีกหลายเสียงที่ทักท้วงการ ปลุก ให้ตำนานเด็กดีกลุ่มนี้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยเป็นห่วงกลัวว่าหากนำ มานะ มานี ปิติ ชูใจ กลับมาอีกครั้ง จะทำให้มนต์เสน่ห์ของตำนานแบบเรียนในความทรงจำจะลดหายไป ซึ่งบรรณาธิการหนุ่มคนแรกของอะเดย์ได้แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า เรื่องบางเรื่องไม่อาจถูกกาลเวลาทำลายคุณค่าได้ ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปแค่ไหน แต่คุณค่าก็จะยังคงอยู่ การนำเพื่อนเก่าเหล่านี้กลับมาไม่ใช่การทำลายคุณค่า ไม่ใช่การทำลายมนต์เสน่ห์ หากแต่คือการนำพวกเขากลับมาพูดถึง เป็นการนำสิ่งดี ๆ ให้ย้อนเวลากลับมาอีกครั้ง

ผมชื่นชอบความผูกพันของตัวละครระหว่างเพื่อนกับเพื่อน ระหว่างลูกกับพ่อ กลิ่นอายของความเป็นครอบครัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นลักษณะความสัมพันธ์แบบไทยสมัยเก่า ซึ่งผมคิดว่าทุกวันนี้มันเจือจางลง เรื่องราวของเด็กกลุ่มนี้จะทำให้เรารู้สึกได้ ว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือคนในครอบครัว ก็คือเพื่อนดี ๆ ที่จะอยู่กับเราตลอดเวลาไม่ว่าจะเราจะมีความทุกข์หรือความสุข

สำหรับนักแสดงสาวผู้เคยประทับใจกับแบบเรียนภาษาไทยชุดมานะ มานี ในอดีตมาแล้ว โดนัท มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล ได้กล่าวถึงความประทับใจที่มีต่อตัวละครเหล่านี้ว่า

มานะ มานี ปิติ ชูใจ เจ้าโต เจ้าแก่ สีเทา เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ในวัยเด็กสำหรับทุกคน โดนัทคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้เราอ่านออกเขียนได้ เป็นสิ่งแรก ๆ ที่ทำให้เด็กได้รู้จักกับชีวิตผ่านทางตัวหนังสือ

เมื่อวันเวลาผ่านไป ตัวละครเหล่านี้กลายมาเป็นเพื่อนเก่า ของเธอ จนถึงวันที่พวกเขากลับมาเยี่ยมเยียนเธออีกครั้ง

ทางช้างเผือก เป็นหนังสือที่ทำให้เราได้นึกถึงอดีต นึกถึงช่วงเวลาเก่าๆ ที่พอนึกถึงทีไรก็รู้สึกดี อ่านแล้วก็อยากกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง โดนัทกล่าวทิ้งท้าย

Friends

วันเวลาที่ผ่านไป อาจทำให้บางสิ่งหล่นหายไปตามเส้นทางแห่งกาลเวลา ความทรงจำที่ดี อาจถูกเก็บซุกซ่อนไว้ในช่องที่ลึกที่สุดของลิ้นชักแห่งความทรงจำ แต่ทว่า.. จะเป็นไรไปเล่า หากการค้นหาความทรงจำและการเก็บบางสิ่งที่ดีงามในอดีต จะนำพาความสุขอันอ่อนหวานของวัยเยาว์กลับคืนมา ร่วมกันเก็บเกี่ยวและรื้อฟื้นความทรงจำอันแสนสุขอีกครั้งกับพวกเขาเหล่านี้ มานะ มานี ปิติ ชูใจ เพชร วีระ เจ้าแก่ แล้วคุณจะรู้ว่า ความทรงจำที่ดี ย้อนกลับมาได้เสมอ…ถ้าเราต้องการ

……………………………………………………

วีระจัดเป็นเด็กที่ค่อนข้างอาภัพ พ่อของเขาเป็นทหารและตายในสนามรบตั้งแต่วีระยังอยู่ในท้องส่วนแม่ของเขาก็ ตรอมใจตายตามพ่อเขาไปหลังจากที่คลอดวีระได้ 15 วัน ชีวิตทั้งหมดของวีระจึงอยู่กับลุงตั้งแต่เกิด (สุดทายวีระเสียคนได้แต่กินเหล้าเพราะได้ภรรยาที่ไม่ดี) เพชรมีบ้านเกิดอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนบ้านเกิดของ ดวงแก้วอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี

จันทรที่คนส่วนใหญ่จำได้คือ เด็กหญิงที่มีขาพิการ แต่มีใครทราบบ้างว่าในตอนท้ายของเรื่อง เธอได้รับคัดเลือกให้ร้องเพลง ความฝันอันสูงสุด และยังอ่านทำนองเสนาะเฉพาะพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าให้แพทย์หลวงรับตัวไปรับการผ่าตัดขาที่ กรุงเทพฯ จนหายเป็นปกติ

……………………………………………………

ชื่อจริงของตัวละคร
มานี รักเผ่าไทย ——–>แพทย์หญิงมานี รักเผ่าไทย
มานะ รักเผ่าไทย———> พันโทมานะ รักเผ่าไทย
ปิติ พิทักษ์ถิ่น
วีระ ประสงค์สุข
ดวงแก้ว ใจหวัง
ชูใจ เลิศล้ำ

……………………………………………………

ชูใจ อยู่กับย่าและอามาตั้งแต่เล็ก
โดยที่เธอไม่รู้ราบละเอียดใดๆเกี่ยวกับพ่อและแม่แท้ๆของเธอเลย ความจริงก็คือ
พ่อของเธอเสียชีวิตตั้งแต่ชูใจอายุ 1 ขวบ ส่วนแม่ก็อาศัยอยู่ต่างประเทศ
ในตอนท้ายของแบบเรียน แม่ของชูใจบินกลับมารับให้ชูใจไปอยู่ด้วยกัน
แต่ชูใจเลือกที่จะอยู่กับย่าซึ่งเลี้ยงตนมาตลอดตั้งเด็ก

……………………………………………………

เจ้าแก่
ครั้งหนึ่งปิติ เคยถูกสลากออมสินเป็นเงินจำนวน 1 หมื่นบาท
ซึ่งเงินส่วนนี้เขาได้นำไปซื้อลูกม้าตัวใหม่และตั้งชื่อให้ว่าเจ้านิล ซึ่งทดแทนเจ้าแก่ที่ตายไป

……………………………………………………

ความสนุกสนาน ที่มีอยู่ในโลกอันไร้ขอบเขตแห่งจินตนาการ ความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาที่ไม่ต้องอาศัยการปั้นแต่ง สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดกลายมาเป็น “ความทรงจำ” อันแสนสุขที่เดินทางแวะเวียนมาให้รางวัลกับเราทุกครั้งเมื่อยามคิดถึงวันเวลาในอดีต

ภาพประกอบบทเรียน ป.๑ เล่ม ๑ – ๒

เจ้าแก่

เรื่องเศร้า เจ้าแก่ตาย

วันหนึ่งม้าแก่ แหงแก๋ ตายไป เราแสนเสียใจ ไม่มีม้าขี่
ต้องเดินด้วยขา เมื่อยล้าเต็มที เจ้าแก่แสนดี ไม่น่าตายเลย

มานะ มานี ปิติ ชูใจ

ตัวละครเก่าๆ ในแบบเรียนภาษาไทยยุคก่อน ก็เป็นอีกหนึ่งความทรงจำที่เปรียบเสมือนเป็นชิ้นส่วนของอดีตชิ้นเล็กๆ ที่ทำให้ใครหลายคนอมยิ้มได้อยู่เสมอ มานะ มานี ปิติ ชูใจ เพื่อนเก่าในวัยเด็กของคนในยุคปี พ.ศ. 2521 ถึง 2537 คือตัวละครที่มาทักทายสร้างความรู้จักกับพวกเราตั้งแต่แรกเข้าเรียนประถม 1 จนกระทั่งเรียนจบชั้นประถมศึกษา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความรักความผูกพัน ที่เกิดขึ้นระหว่างตัวละครเหล่านั้น ช่วยเติมแต่งจินตนาการให้พวกเขากลายมาเป็น เพื่อน สมัยประถมของเด็กนับล้านคน

พวกเขาเติบโตขึ้นตามวัยทุกปีพร้อม ๆ กับเรา เรื่องราวสนุกสนานที่ได้อ่าน กลายเป็นความทรงจำอันแสนประทับใจที่ยากจะลืมเลือน หลายสิบปีผ่านไป อยากรู้ไหมว่า เพื่อนเก่าของพวกเราเติบโตเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง มานะ มานี ยังคงน่ารัก มองโลกในแง่ดี หรือจะกลายเป็นหนุ่มสาวยุคใหม่ผู้แคล่วคล่อง เจ้าโต และสีเทา จะยังมีชีวิตอยู่หรือจากลาพวกเราไปแล้วตามกาลเวลา

ตำนานเด็กดี

นี่ชูใจนะโต ชูใจจะเป็นเพื่อนมานี เป็นเพื่อนโต สีเทาแมวของฉันก็จะเป็นเพื่อนโตด้วย

เสียงเจื้อยแจ้วของเด็กหญิงที่เปรียบเหมือนเป็นเพื่อนวัยเด็กของพวกเรา มาพร้อมๆ กับความรู้สึกผูกพันอ่อนหวานกับมิตรภาพอันบริสุทธิ์ของพวกเขา มานะ มานี ปิติ ชูใจ เพชร จันทร เจ้าโต สีเทา และเจ้าแก่ เดินทางกลับมาย้ำเตือนความทรงจำวัยเยาว์ของเรา ผ่านเรื่องราวที่อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ ผู้แต่งบทเรียนภาษาไทยในครั้งก่อน ได้บรรจงร้อยเรียงเรื่องราวของเด็กๆ ให้กลับมาโลดแล่นอีกครั้ง

นับจากเดือนตุลาคม พ.ศ. 2545 “ทางช้างเผือก” ได้ถูกตีพิมพ์ลงในนิตยสารอะเดย์เป็นจำนวนทั้งหมด 12 ตอน เริ่มตั้งแต่วันพบกันครั้งแรกของผองเพื่อนวัยเด็ก ผู้เขียนได้สร้างให้เรื่องราวดำเนินไปพร้อม ๆ กับวันเวลาที่ไม่เคยหยุดยั้ง เรื่องราวมากมายที่เข้ามาสั่งสมประสบการณ์ให้เด็กน้อยได้เรียนรู้ จวบจนกระทั่ง ตอนอวสาน… ในที่สุดพวกเขาก็กลับมาพบกันอีกครั้ง

อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ

อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ ผู้เขียนแบบเรียนภาษาไทยชุดมานะ มานี ปิติ ชูใจ

จริงๆ แล้ว ตอนสมัยเป็นแบบเรียนภาษาไทย เรื่องนี้ไม่มีชื่อ แต่ว่าก็มีคนเคยเรียกเล่นๆ ว่าเรื่องนี้เป็น ตำนานเด็กดี… อาจารย์รัชนี ศรีไพรวรรณ ผู้เขียนแบบเรียนชุดมานะ มานี เล่าความทรงจำครั้งที่ได้เริ่มต้นเขียนแบบเรียนภาษาไทยให้เด็กไทยนับล้านคน ได้สัมผัสกับเรื่องราวอันน่าประทับใจ อาจารย์เล่าว่า สาเหตุที่มีคนเรียกว่าตำนานเด็กดีคงเป็นเพราะเรื่องนี้มีแต่เด็กดี มีแต่เด็กน่ารัก ซึ่งนี่คือความตั้งใจของอาจารย์ ที่อยากให้เด็กๆ ได้เริ่มต้นเรียนรู้ในสิ่งที่ดี

เริ่มต้นที่ได้เขียนเรื่องนี้ เป็นเพราะตอนนั้นกระทรวงศึกษาธิการต้องการเปลี่ยนหลักสูตรใหม่ แบบเรียนภาษาไทยชุดเก่าโบราณเกินไป โดยเงื่อนไขข้อแรกของแบบเรียนชุดนี้คือ ต้องอ่านสนุก เด็ก ๆ ต้องติดใจและอยากเรียนภาษาไทย อาจารย์รัชนีกล่าว

แบบเรียนปีแล้วปีเล่าได้ถูกร้อยเรียงผ่านตัวละครตัวน้อย ซึ่งกว่าจะไปปรากฏเป็นเรื่องราวอยู่บนหนังสือเล่มที่พวกเราได้อ่านนั้นไม่ ใช่เรื่องง่ายเลย อาจารย์รัชนีเล่าว่า แบบเรียนภาษาไทยชุดนี้ เมื่อเขียนเสร็จครั้งแรกก็ต้องนำไปผ่านการปรับปรุงและทดลองใช้จนกว่าจะแน่ใจ ว่าเรื่องราวที่จะออกไปสู่สายตาเด็กนับล้านคนทั่วประเทศ เป็นเรื่องที่ดี บริสุทธิ์ ไม่เป็นพิษเป็นภัย

เด็กแต่ละชั้นก็จะได้รู้จักคำศัพท์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ได้เรียนรู้ถึงสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างเช่นเมื่อถึงเวลาที่หลักสูตรภาษาไทยกำหนดมาว่าจะต้องให้เด็กรู้จัก ความหมายของคำว่าตาย ครูก็ต้องมานั่งคิดแล้วคิดอีกว่าจะให้ใครตายดี ถ้าเป็นคนก็จะทำร้ายจิตใจเด็กเกินไป ก็เลยสรุปกลายเป็นเจ้าแก่ ม้าของปิติตาย เพราะมันแก่แล้ว ซึ่งขนาดเขียนให้ม้าตาย ครูยังโดนเด็ก ๆ ร้องห่มร้องให้ต่อว่า ว่าทำไมต้องให้เจ้าแก่ตาย พวกเขาสงสารมัน” อาจารย์รัชนีกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

สำหรับอาจารย์รัชนีแล้วเสน่ห์ของตัวละครเหล่านี้ที่ทำให้คนนับล้านตกหลุมรักก็คือ พวกเขามีความเป็นเด็ก มีความบริสุทธิ์แจ่มใส ซึ่งสิ่งเหล่านี้สร้างความประทับใจให้ใครต่อใครได้รักตัวละคร เหล่านี้ไปโดยไม่รู้ตัว

More articles

Latest article